การทดสอบก้นถุงพลาสติกด้วยการใส่น้ำ

รูปถุงแขวนน้ำ ทดสอบรอยซีลถุง และมิเตอร์น้ำ

มั่นใจในคุณภาพทุกใบ – ถุงพลาสติกจากไทยฮง ผ่านการสุ่มทดสอบอย่างเข้มงวด

ที่ โรงงานไทยฮง พลาสติก เราให้ความสำคัญกับคุณภาพของถุงพลาสติก โดยเฉพาะ “รอยซีลที่ก้นถุง” ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่อาจเกิดการรั่วซึมได้หากผลิตไม่ดี หรือซีลก้นไม่แน่น ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า โรงงานของเราจึงมีขั้นตอนการ ตรวจสอบคุณภาพด้วยการใส่น้ำลงในถุงพลาสติก และแขวนพักไว้ตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลและสามารถตรวจพบปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ

ซึ่งทางไทยฮงได้มีการ ควบคุมปริมาณน้ำด้วยมิเตอร์ เพื่อให้แน่ใจว่าการทดสอบในแต่ละครั้งมีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด และเพื่อความแม่นยำและสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ เราบันทึกเวลาเริ่มทดสอบไว้อย่างชัดเจนในทุกครั้ง

นอกจากนี้ ทีมควบคุมคุณภาพของเรายังมีการ ติดตามผลการทดสอบ อย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินผลและพัฒนาให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุด

เพราะทุกถุงของคุณ ต้องมั่นใจได้ทุกครั้งที่ใช้งาน — เราทดสอบให้คุณก่อนเสมอ!

พลาสติกเบอร์ 4 (LDPE) คืออะไร

รูปบอร์ดแสดงประเภทพลาสติกวางอยู่ในโรงงาน

เมื่อพูดถึงพลาสติกที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวัน หนึ่งในประเภทที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ พลาสติกเบอร์ 4 หรือ LDPE(Low-Density Polyethylene) ซึ่งเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติโดดเด่น ทั้งในด้านความยืดหยุ่น ความทนทาน และความปลอดภัยต่อการใช้งานหลายรูปแบบ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์

LDPE คืออะไร?
LDPE(Low-Density Polyethylene) เป็นพลาสติกประเภทโพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ ซึ่งมีลักษณะนิ่ม ยืดหยุ่นดี และมีน้ำหนักเบา พลาสติกชนิดนี้ถูกจัดอยู่ในประเภท “เบอร์ 4” ตามระบบรหัสรีไซเคิลของพลาสติก

ด้วยคุณสมบัติพิเศษของ LDPE จึงเหมาะสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความบาง ยืดหยุ่น และทนความชื้น เช่น ฟิล์มห่ออาหาร ถุงหูหิ้ว ถุงแช่แข็ง

คุณสมบัติของ LDPE
✅ ยืดหยุ่นสูง – ไม่ฉีกขาดง่าย รองรับแรงดึงและแรงกดได้ดี

✅ ทนความชื้น – ไม่ดูดซับน้ำ เหมาะกับบรรจุภัณฑ์หรือการใช้งานกลางแจ้ง

✅ ทนต่อสารเคมีบางชนิด – เช่น กรด-ด่างอ่อน

✅ น้ำหนักเบา – ง่ายต่อการขนส่งและขึ้นรูป

✅ ปลอดภัยต่ออาหาร (เกรด A) – นิยมใช้ในถุงบรรจุอาหารหรือฟิล์มห่อ

✅ สามารถรีไซเคิลได้ (รหัสรีไซเคิลเลข 04) – เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าพลาสติกบางชนิด

ใช้ทำอะไรได้บ้าง?
LDPE นิยมใช้ผลิตสินค้าในชีวิตประจำวัน เช่น:

  • ถุงพลาสติกหูหิ้ว
  • ฟิล์มยืดห่ออาหาร
  • ถุงใส่อาหารแช่เย็น
  • ถุงซิปล็อก
  • ถุงใส่ของใช้

สิ่งแวดล้อมและการรีไซเคิลพลาสติก
พลาสติกเบอร์ 4 สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ แต่ควรแยกประเภทขยะอย่างถูกวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบบจัดการขยะในพื้นที่ด้วย การเลือกใช้ LDPE ที่สามารถรีไซเคิลได้จึงถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในเชิงสิ่งแวดล้อม

สรุป
พลาสติกเบอร์ 4 หรือ LDPE เป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูง ใช้งานง่าย และเหมาะกับหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ อาหาร ไปจนถึงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว

หากคุณกำลังมองหาวัสดุ LDPE คุณภาพดีสำหรับการผลิตหรือใช้งานในธุรกิจของคุณ ไทยฮง พร้อมให้คำปรึกษาและจัดจำหน่ายพลาสติก LDPE หลากหลายเกรดในราคายุติธรรม

ถุงรองกล่องโฟมสำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์

การปลูกผักจะง่ายขึ้น หากใช้ถุงรองกล่องโฟม

หัวใจหลักของการใช้ถุงรองกล่องโฟมสำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์นั้น เพื่อให้การดูแลเปลี่ยนน้ำทำความสะอาดได้ง่าย
และยืดอายุการใช้งานของกล่องโฟม ไม่ให้เกิดเชื้อรา ทั้งนี้ ผู้ใช้งานส่วนใหญ่จะมักเรียกถุงเหล่านี้ว่าถุงกล่องกุ้ง หรือถุงกล่องปลา
ซึ่งเป็นขนาดของกล่องโฟมที่ทางผู้ใช้งานเลือกใช้ในการปลูกแปลงผักนั่นเอง…

ถุงรองกล่องโฟมสีดำสำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์

ข้อแนะนำการใช้ถุงรองกล่องโฟมสำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์

  • ควรเลือกเป็นพลาสติกเกรดอาหาร  เพราะจะกันน้ำ ไม่รั่วซึม ทนต่อการใช้งานกลางแจ้ง
  • ควรเลือกใช้ถุงที่ขนาดพอดีกับกล่องโฟม ลดการเคลื่อนตัวของพลาติก (สามารถคำนวณขนาดถุงรองในกล่อง)

เลือกถุงรองกล่องแบบไหนดี? สีดำหรือสีฟ้า

ถุงสีดำ จะเหมาะกับการใช้งานทั่วไป เพราะช่วยกันแสงได้ดี ลดการเกิดสาหร่ายในน้ำ และช่วยให้ยืดอายุของกล่องโฟม ให้ใช้งานได้นาน แต่ข้อเสียคือจะดูมืด ไม่ค่อยสะอาดตาสักเท่าไหร่

 ถุงสีฟ้า เหมาะกับฟาร์มที่ต้องการให้ภาพลักษณ์ดูสะอาด เช่น ฟาร์มออแกนิกหรือโรงเรือนที่เปิดให้ลูกค้าเลือกซื้อได้ เพราะถุงสีฟ้า ดูสว่าง สะอาด สามารถเห็นคราบสิ่งสกปรกได้ง่าย แต่ข้อเสียอาจจะกันแสงได้ไม่สนิท อาจต้องหาวิธีลดแสงร่วมด้วย เช่น สั่งผลิตถุงที่เพิ่มแม่สีให้สีทึบยิ่งขึ้น

ถุงรองกล่องโฟมสีดำสำหรับปลูกแปลงผัก

หากสนใจสั่งผลิตถุงรองกล่องโฟมสามารถติดต่อเราได้ที่ @thaihong หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประเมินราคาถุงรองกล่องได้ค่ะ

วิธีผลิตถุงพลาสติกแบบมีสี

การเป่าม้วนพลาสติกแบบผสมแม่สี

การผลิตถุงพลาสติกแบบถุงสีทั้งใบ

ในอุตสาหกรรมพลาสติก ถุงพลาสติกแบบถุงสีใบได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เพื่อเพียงแค่ความสวยงาม แต่ยังตอบโจทย์ด้านการใช้งาน เช่น ปิดบังสินค้า  การแยกประเภทของสินค้า หรือเพิ่มความดึงดูดใจให้กับตัวสินค้า

แม่สีเม็ดพลาสติกส่วนประกอบหลักในการถุงสีทำใบ

ขั้นตอนการผลิตถุงพลาสติกแบบถุงสีทั้งใบ

  1. การเลือกเม็ดพลาสติก
    โดยปกติการผลิตถุงจะเริ่มต้นจากเม็ดพลาสติกประเภท HDPE หรือ LDPE ซึ่งในกรณีถุงสี จะมีการเติมเม็ดสีหรือที่เรียกว่า Color Masterbatch ลงไปผสมกับเม็ดพลาสติกใสในอัตราส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้สีนั้นออกมาสม่ำเสมอทั่วทั้งเนื้อพลาสติก
  2. กระบวนการเป่าม้วนพลาสติก
    เมือเม็ดพลาสติกที่ผสมเข้ากันดีเรียบร้อยแล้วจะนำไปเทเข้าสู่เครื่องเป่าม้วนพลาสติก เมื่อความร้อนทำให้เม็ดพลาสติกละลาย เครื่องจะเป่าพลาสติกเป็นลูกโป่งออกมาเป็นหลอดพลาสติก ซึ่งในระหว่างนี้จะควบคุมการแต่ง หน้ากว้างของพลาสติก และความหนาของพลาสติก ให้เหมาะสมกับการใช้งานตามความต้องการของลูกค้า
  3. การตัดถุงและซีลก้นถุง
    หลังจากได้ม้วนพลาสติกสีมาแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการตัดให้ได้ความยาวที่ต้องการ และทำการซีลก้นถุงตามรูปแบบ เช่น ถุงหูหิ้ว ถุงหูเจาะ เป็นต้น
  4. การควบคุมคุณภาพ
    ก่อนจัดส่งสินค้า ทางเราจะมีการตรวจสอบในเรื่อง ขนาด สี ความหนา และการซีลก้นถุง ว่าตรงตามมาตรฐานหรือไม่ งานถุงสีที่ไม่ได้คุณภาพ เช่น สีไม่สม่ำเสมอ ขนาดไม่ได้มาตรฐาน จะถูกคัดแยกออกจากสายการผลิต

ถุงสีทั้งใบที่ใช้เม็ดสีลาสติกเป็นวัตุถิบในการผลิต

วิธีวัดความหนาของถุงพลาสติก

การวัดความหนาของถุงพลาสติกถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญมากในกระบวนการควบคุมคุณภาพ เพราะความหนาของถุงจะมีผลต่อความทนทาน ความยืดหยุ่น และแม้กระทั่งต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ผลิตโดยตรง ในโรงงานทั่วไป เรามักใช้เครื่องมือหลักๆ อยู่ 2 ประเภท แล้วแต่ความละเอียดและมาตรฐานที่ต้องการ

รูปภาพเครื่อง Micrometer แบบ Mechanical หรือ Digital


1. อุปกรณ์ Thickness gauge หรือ Micrometer

เครื่อง Micrometer แบบ Mechanical หรือ Digital

  • ใช้หลักการวัดความหนาระหว่างของทั้ง 2 ด้าน(ความหนาต่อคู่)

  • ความแม่นยำสูง (โดยเฉพาะรุ่นที่ละเอียดถึง 0.001 มม.)

  • เหมาะสำหรับการวัดจุดเฉพาะ แนะนำให้วัดอย่างน้อย 3 จุด แล้วเฉลี่ยออกมา

วิธีวัด:

  1. วางถุงพลาสติกให้เรียบสนิทบนพื้น หรือบนโต๊ะ

  2. ใช้เครื่อง Micrometer กดที่ถุงเบาๆ (ไม่กดจนยุบ)

  3. อ่านค่าจากหน้าปัด (Mechanical) หรือหน้าจอ (Digital)

ข้อดี:

  • มีความแม่นยำ

  • ใช้ได้กับถุงหลายชั้น

เครื่อง Thickness Tester
เครื่อง Thickness Tester

2. เครื่อง Thickness Tester เฉพาะทาง (ASTM D6988, ISO 4593)

หากต้องการความแม่นยำระดับมาตรฐานสากล (เช่น ในห้องแล็บ QC ของโรงงาน):

  • เครื่องวัดจะมีหัวสัมผัสแรงกดตามมาตรฐาน เช่น 2 N หรือ 1 N
  • สามารถตั้งค่าและควบคุมแรงกด ความเร็ว และตำแหน่งการวัดได้
  • นิยมวัด 5 หรือ 10 จุดเฉลี่ยเพื่อลดค่าคลาดเคลื่อน

หน่วยของความหนา

ถุงพลาสติกมักวัดความหนาเป็น ไมครอน (micron) หรือ มิลลิเมตร (mm) หรือในบางประเทศใช้ หน่วยมิล (mil) (1 mil = 25.4 micron)

คำแนะนำเพิ่มเติม

  • ควรวัดหลายจุด (กลางถุง มุม ขอบ) เพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยที่แท้จริง

  • หลีกเลี่ยงการวัดบริเวณมีลอนหรือรอยพับ

  • ใช้แผ่นตัวอย่างจากม้วนพลาสติก (ก่อนตัดเป็นถุง) เพื่อเทียบมาตรฐาน

    📌 เคล็ดลับจากโรงงาน

    • อย่าวัดบนถุงที่ยังมีรอยพับเด็ดขาด! เพราะค่าจะเพี้ยน

    • ถ้าถุงมีรอยปั๊ม/ซีล ควรหลีกเลี่ยงบริเวณนั้น

    • ควรวัดหลายจุด เช่น กลาง มุมซ้าย มุมขวา แล้วเฉลี่ยออกมา

    • หากใช้ฟิล์มม้วน (ก่อนตัดเป็นถุง) แนะนำให้ตัดชิ้นตัวอย่างออกมาวัดดีกว่า

ค่า MD – TD ของถุงพลาสติก คืออะไร

ทฤษฎีแรงต้านทานและการดึงของพลาสติก

ความหมายของค่า MD – TD ในถุงพลาสติก

เรามักจะได้ยินเวลาพูดถึงคุณสมบัติของถุงพลาสติก ทำไมถึงมีคำว่า MD กับ TD อยู่เสมอ เราจะมาคำตอบไปด้วยกัน….
ในอุตสาหกรรมการผลิตถุงพลาสติก พลาสติกที่ได้จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันระหว่าง 2 ทิศทางหลัก คือ MD และ TD

MD ย่อมาจาก Machine Direction คือ ทิศทางตามแนวเครื่องจักร หรือแนวยาวของม้วนพลาสติก

TD ย่อมาจาก Transverse Direction คือ ทิศทางขวาง หรือตั้งฉากกับแนวการผลิต หรือแนวกว้างของพลาสติก

ค่า MD (Machine Direction) และ TD (Transverse Direction) ของถุงพลาสติก เป็นการระบุทิศทางของการวัดคุณสมบัติของพลาสติก โดยเฉพาะในการทดสอบความแข็งแรง การยืดตัว หรือแรงดึง
ตัวอย่างผลทดสอบแรงต้านทานและการฉีกขาดของพลาสติกปูพื้นก่อนเทคอนกรีต

เครื่องทดสอบแรงดึงหรือแรงยืดของพลาสติก

เครื่องในภาพคือ เครื่องทดสอบแรงดึง (Tensile Testing Machine) หรือที่เรียกว่า Motorized Test Stand ซึ่งใช้สำหรับทดสอบแรงทางกล เช่น แรงดึง (Tensile), แรงกด (Compression), แรงเฉือน (Shear) ของวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เส้นด้าย เส้นใย เชือก เทป ฯลฯ

ส่วนประกอบหลักของเครื่อง

  1. หัวจับ (Gripper/Clamp):

    • ใช้ยึดตัวอย่างไว้ทั้งด้านบนและด้านล่าง

    • หัวบนเชื่อมกับโหลดเซลล์ (Load Cell) สำหรับวัดแรง

    • หัวล่างติดอยู่กับแท่นที่เคลื่อนที่ขึ้นลงด้วยมอเตอร์

  2. โหลดเซลล์ (Load Cell) + Digital Display:

    • ส่วนนี้จะแสดงค่าของแรงที่ใช้กับตัวอย่าง (เช่น N หรือ kgf)

    • ใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับแรงแล้วแสดงผลบนหน้าจอ

  3. ปุ่มควบคุมการทำงาน (Control Panel):

    • เช่น ปุ่ม UP / DOWN สำหรับเคลื่อนหัวจับ

    • ปุ่ม STOP เพื่อหยุดการเคลื่อนที่

    • ปุ่มโหมดการทำงาน Manual/Auto

  4. หน้าจอแสดงค่าแรง (Force Display):

    • แสดงแรงสูงสุดหรือปัจจุบันที่เกิดขึ้นกับตัวอย่างในหน่วยต่างๆ

  5. สายทดสอบ/ตัวอย่าง:

    • ตัวอย่างที่ทดสอบในภาพคือเส้นด้ายหรือเส้นใยหลายเส้น ผูกมัดและหนีบไว้ระหว่างหัวจับ

หลักการทำงาน

  1. เตรียมชิ้นงาน:

    • ตัดชิ้นงานให้ได้ขนาดตามมาตรฐาน

    • หนีบไว้ระหว่างหัวจับด้านบนและด้านล่างให้แน่น

  2. ตั้งค่าการทดสอบ:

    • เลือกโหมด Manual หรือ Auto

    • ตั้งค่าความเร็วในการเคลื่อนที่ (บางรุ่นสามารถตั้งความเร็วได้)

  3. เริ่มการทดสอบ:

    • กดปุ่ม “UP” หรือ “DOWN” เพื่อเริ่มการเคลื่อนหัวจับให้ดึงหรือกดตัวอย่าง

    • ตัวอย่างจะถูกดึงจนขาดหรือเสียรูป

  4. อ่านค่าแรง:

    • ค่าแรงที่จำเป็นในการดึงจนขาดจะแสดงบนจอ

    • บันทึกค่าสูงสุดเพื่อวิเคราะห์สมบัติเชิงกล

การใช้งานทั่วไป

  • ทดสอบแรงดึงของเส้นด้าย/เส้นใย/เชือก

  • ตรวจสอบคุณภาพการผลิตสินค้าที่ต้องรับแรง

  • วิจัยสมบัติเชิงกลของวัสดุใหม่

  • ใช้ในงาน QC (ควบคุมคุณภาพ)

วิธีการคำนวนจำนวนใบต่อกิโลกรัม

ขออนุญาตแนะนำ 2 วิธี ดังนี้

วิธีที่ 1. ใช้สูตรต่อไปนี้

ในการหาจำนวนใบต่อกิโลกรัม ของถุงพลาสติกขนาดต่างๆได้ครับ แต่ผลลัพธ์จากสูตรอาจจะมีค่าความคลาดเคลื่อนประมาณ ± 10%

1,700 ÷ กว้าง ÷ ยาว ÷ หนา

กว้าง = ความกว้างของถุง มีหน่วยเป็น นิ้ว

ยาว = ความยาวของถุง มีหน่วยเป็น นิ้ว

หนา = ความหนาของถุง มีหน่วยเป็น mm

ตัวอย่างเช่น

ต้องการหาจำนวนใบต่อกิโลกรัม ของถุงขนาด 31 x 52″ x 0.06 mm

1,700 ÷ 31 ÷ 52 ÷ 0.06 = 17.6 ใบต่อ 1 กิโลกรัม

ผลลัพธ์มีความคลาดเคลื่อนประมาณ ± 10%

10% ของ 17.6 ใบ = 1.76 ใบ

ดังนั้นจำนวนใบต่อกิโลกรัม จะเท่ากับ 17.6 ± 1.76 ใบ หรือ 15.8 ถึง 19.4 ใบ

วิธีที่ 2 ชั่งน้ำหนักถุง วิธีการคำนวณจำนวนใบต่อกิโลกรัม (กรณีถุงพลาสติก) โดยทั่วไปแล้วจะทำได้โดยการชั่งน้ำหนักของถุง 1 ใบ แล้วนำ 1,000 กรัม มาหารน้ำหนักกรัมต่อใบ ก็จะได้จำนวนใบต่อ 1 กิโลกรัม โดยใช้เครื่องชั่งดิจิตอล

ตัวอย่างเช่น

ถุงมีน้ำหนัก 200 กรัม  ให้นำ  1,000 กรัมมาหาร จะได้เท่ากับ 1,000 ÷ 200 =  5 ใบ


วิธีใช้เครื่องชั่งดิจิตอล
1.
เตรียมเครื่องชั่ง:

1.1 ตรวจสอบฟองอากาศในลูกน้ำ (ถ้ามี) ให้แน่ใจว่าอยู่ในตำแหน่งตรงกลาง.
1.2 เปิดเครื่องชั่ง.
1.3 ตรวจสอบว่าเครื่องชั่งแสดงค่าเป็นศูนย์ หรือใช้ปุ่ม Tare เพื่อตั้งค่าเป็นศูนย์. 

2. ชั่งน้ำหนัก:
2.1 วางสิ่งของที่ต้องการชั่งบนจานชั่ง โดยให้สิ่งของอยู่ตรงกลางจาน. 
2.2 รอจนกว่าเครื่องชั่งแสดงค่าน้ำหนักที่เสถียร. 

วิธีการคำนวนขนาดของถุงพลาสติกรองในกล่อง

กล่องกระดาษลูกฟูกแบบเปิด วางอยู่บนโต๊ะหินอ่อนสีน้ำตาลแดง พื้นหลังสีขาวเรียบ

กล่องกระดาษเป็นหนึ่งในบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายของออนไลน์ไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้ารายใหญ่ ซึ่งในบางครั้งกล่องกระดาษเพียงอย่างเดียวไม่สามารถตอบโจทย์ได้ เช่น สินค้ามีลักษณะเป็นชิ้นเล็กๆ หรือสินค้าที่ไม่สามารถสัมผัสกับความชื้นในอากาศได้ เป็นต้น ทำให้หลายคนต้องมองหาถุงพลาสติกเพื่อมารองป้องกันด้านในอีกครั้ง แต่เราจะรู้ขนาดถุงพลาสติกที่จะมารองด้านในกล่องกระดาษได้ยังไง? เรามาหาคำตอบไปด้วยกันนะ

วิธีการคำนวณความกว้างของถุงพลาสติก

สามารถคำนวณได้ง่ายๆ โดยการนำความกว้างและความยาวของกล่องกระดาษมาบวกกัน และเผื่อไว้อีก 1-2 นิ้ว เพื่อให้ง่ายต่อการสวมใส่ขณะใช้งาน

วิธีการคำนวณความยาวของถุงพลาสติก

สามารถทำได้โดยการนำความกว้างและความสูงของกล่องกระดาษมาบวกกัน และเผื่อไว้อีก 5-6 นิ้ว สำหรับติดเทปกาวให้มิดชิด

การวัดขนาดหาค่าความกว้าง ความยาว ความสูง ของกล่อง

วิธีคิด

  • วิธีคำนวนความกว้างถุง (24+40+24+40+5)/2 = 66.5 cm
  • วิธีคำนวนความยาวถุงกรณีปิดเทป 24+17+5 = 46 cm
  • วิธีคำนวนความยาวถุงกรณีมัดปาก 40+17+ 15 = 72 cm

กล่องใบนี้จะใช้ถุงรองในกล่องกระดาษ ไซส์ 66.5 x 46 cm กรณีปิดปากถุงด้วยเทป
และไซส์ 66.5 x 72 cm กรณีปิดปากถุงด้วยกันมัดปาก “เพียงเท่านี้! คุณก็สามารถสั่งถุงพลาสติกรองกล่องได้อย่างพอดี”

กล่องกระดาษเปิดสี่ใบ วางอยู่บนโต๊ะหินอ่อนสีน้ำตาลแดง โดยในกล่องบรรจุถุงพลาสติกใส

สำหรับท่านที่มองหาถุงพลาสติกรองในกล่อง สอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ sales@thaihong.co.th

วิธีคำนวณขนาดของถุงพลาสติกรองในถัง

ถุงพลาสติก HDPE รองถังเหล็ก 200 ลิตรสำหรับบรรจุสารเคมีหรือสินค้าอื่นๆ

วัดขนาดของถัง

เราจะใช้เครื่องมือวัดขนาดของส่วนสำคัญได้แก่

  •  เส้นรอบวงของถัง
  •  ความสูงของถัง

อุปกรณ์สำหรับการเตรียมวัดขนาดถุงรองในถัง

คำนวณเพื่อหาขนาดของถุงที่เหมาะสม

จากถังตัวอย่างเป็นภาพถัง 200 ลิตร  ขนาด สูง 93 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 58.5 เซนติเมตร
เราจะมาใช้สูตรง่ายๆ เพื่อคำนวณตัวถังกัน

ความกว้างของถุง = เส้นรอบวงถัง ÷ 2
ความยาวของถุง = ความสูงของถัง + (ความลึกของก้นถัง หรือเผื่อชายด้านบนประมาณ 10–15 ซม.)
ตัวอย่าง : ถังกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 58.5 ซม. ความสูง 93 ซม.
→ เส้นรอบวง = 58.5 × 3.14 = 183.6 ซม.
→ ความกว้างถุง = 183.6 ÷ 2 = 91.8 ซม.
→ ความยาวถุง = 93 + 15 = 108 ซม.

“แปลว่าเราควรเลือกถุงพลาสติกขนาดใหญ่ประมาณ 91.8 × 108 ซม. “

เคล็ด (ไม่) ลับ

  • กรณีลูกค้าปิดปากถุงด้วยเทป     :  ความยาวสินค้าจริง (+อีก 10 ซม./นิ้ว   คือค่าเผื่อของการใช้งานปิดเทป)
  • กรณีลูกค้ามัดปมเพื่อปิดปากถุง  :  ความยาวสินค้าจริง (+อีก 15 ซม./นิ้ว   คือค่าเผื่อของการใช้งานเพื่อมัดปากถุง)

การวัดขนาดถังเพื่อคำนวณถุงพลาสติกที่เหมาะสม

เกร็ดความรู้กับการเลือกถุงที่ใช่

การเลือกถุงพลาสติกให้เหมาะกับประเภทการใช้งานด้วย เช่น ถังสำหรับของแห้ง เลือกถุงบางทั่วไป ถังใส่ของเปียก ควรใช้ถุงเหนียวพิเศษหรือแบบ HDPE ถังใหญ่ในอุตสาหกรรม อาจต้องใช้ถุงหนาเป็นพิเศษ “การเลือกถุงที่พอดีและเหมาะสม จะช่วยลดขยะรั่วไหลและยืดอายุการใช้งานของถัง”

ถุงรองในถังแบบเหนียวพิเศษเนื้อ LDPE หรือ เนื้อ HDPE สำหรับถังใหญ่ในอุตสาหกรรม

ถุงพลาสติกแบบมีจีบข้าง

ขั้นตอนการพับจีบถุงพลาสติก(Gusset) บนเครื่องเป่าถุงพลาสติกเป็นม้วนแบบมีจีบ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการตัดให้เป็นถุงพลาสติกแบบมีจีบข้าง

ถุงพลาสติกขนาดใหญ่แบบมีจีบข้างคือถุงแบบไหน

ถุงพลาสติกไม่ว่าจะเป็นเนื้อ HDPE หรือ LDPE โดยทั่วๆไปแล้วจะเป็นถุงทรงสี่เหลี่ยมมีปากถุงเปิดอยู่ 1 ด้านและด้านตรงข้ามจะเป็นรอยซีลของก้นถุง สามารถใช้งานได้อย่างหลากหลายในการห่อหุ้มและบรรจุสินค้าหรือสิ่งของตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้งาน โดยที่ลำตัวของถุงพลาสติกที่ขนานกับรอยซีลและปากถุงจะเป็นพลาสติกเพียง 2 ชั้น โดยที่ไม่มีการพับซ้อนกัน

ถุงพลาสติกขนาดใหญ่แบบมีจีบข้างจะมีการพับลำตัวของถุงพลาสติกให้เข้าไปข้างในทั้ง 2 ข้าง ทำให้เกิดการซ้อนกันของฟิล์มพลาสติกเป็น 4 ชั้น บริเวณที่เป็นจีบ และจากนั้นนำม้วนพลาสติกที่มีการพับจีบไปเข้าเครื่องตัดและซีลก้นถุง ก็จะได้เป็นถุงพลาสติกขนาดใหญ่แบบมีจีบข้าง(Gusset Bag)

ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ แบบมีจีบข้างเพื่อให้งานบรรจุขวดน้ำดื่มสามารถเรียงได้อย่างสวยงามและวางซ้อนกันได้

ตัวอย่างการใช้งานถุงพลาสติกแบบมีจีบข้าง

ลูกค้ารายนี้ที่สั่งผลิตถุงพลาสติกแบบมีจีบข้างจากโรงงานไทยฮง พลาสติก เป็นโรงงานผลิตขวดน้ำ PET รายใหญ่ย่านปทุมธานี โดยนำไปบรรจุขวดน้ำขนาด 600 cc ตามรูป โดยในรูปเป็นลักษณะการใช้งาน ถุงพลาสติกขนาดใหญ่แบบมีจีบข้าง(Gusset Bags) เพื่อให้สามารถเรียงขวดน้ำอย่างเป็นระเบียบและซ้อนเก็บเป็นชั้นสูงๆ ซึ่งการบรรจุขวดน้ำลงในถุงพลาสติก จะต้องมีความแน่นพอดี ไม่หลวมโครงเครง

ข้อดีของการใช้ถุงแบบมีจีบข้างได้แก่

  • เมื่อบรรจุสินค้าแล้วก้นถุงจะเข้ารูปสวยงามไม่เป็นปีกยื่นออกมา
  • สามารถรองในกล่องกระดาษหรือลังโฟมโดยที่ก้นถุงไม่ยับ
  • ถุงพลาสติกสามารถขยายข้างตามระยะที่พับจีบไว้
  • ก้นถุงที่พับจีบจะถูกซีลติดเอาไว้ทำให้ไม่สามารถขยายได้